สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย จัดงาน Australian Green Economy Mission ที่งาน Sustainability Expo (SX2024) กับภารกิจเศรษฐกิจสีเขียว และความพยายามที่จะเชื่อมโยงธุรกิจที่ทำงานอย่างยั่งยืนของออสเตรเลีย และงานวิจัยต่างๆกับธุรกิจในประเทศไทย

“มันต้องใช้เวลา และทุกคนก็รู้ดีว่าโลกของเรามีเวลาจำกัดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ” ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย พูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาความยั่งยืนของโลกที่ว่าทำไมออสเตรเลียถึงมีโครงการมากมายเกี่ยวกับความยั่งยืน ผ่านทั้งนโยบายการค้า การลงทุน และอีกหลายๆด้าน

“นี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน ความท้าทายเหล่านี้ไม่มีพรมแดน ไม่สำคัญว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับมัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม วิธีปฏิบัติ หรือแนวทางอะไรก็ตามที่จะทำให้เมืองของเราดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

ซู แมคคลัสกี้ ผู้แทนพิเศษด้านเกษตรกรรมของออสเตรเลีย กล่าวระหว่างงานสัมมนาว่า “ประเทศไทยมีอะไรคล้ายคลึงกับหลายประเทศในภูมิภาค กับความท้าทายที่ต้องเผชิญจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น น้ำท่วมบ่อยขึ้น หน้าแล้งหนักขึ้น แต่ประเทศไทยมีโอกาสที่ดีในเรื่องภาคเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีการเกษตร ก็น่าจะเป็นโอกาสที่จะได้ก้าวกระโดดและสร้างความก้าวหน้าในด้านการเกษตรได้อย่างดีเยี่ยม”

ซูพูดถึงความร่วมมือและกลยุทธที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนภาคเกษตรกับธุรกิจในไทยว่า ไม่มีวิธีการใดวิธีเดียวที่จะเหมาะกับทุกสถานการณ์ สิ่งสำคัญคือต้องมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ ดังนั้นนโยบาย กระบวนการ วิธีการ หรือเครื่องมือต่าง ๆ จึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้

ซูบอกว่าออสเตรเลียและไทยมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน และควรต้องทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกัน และการสื่อสารเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นด้วย

“ออสเตรเลียและไทยมีความคิดเหมือนกันในเรื่องความมุ่งมั่นด้านการเกษตร ความสำคัญของการปลูกอาหารที่มีคุณค่าและคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร และความท้าทายด้านสภาพอากาศ รวมถึงความมุ่งมั่นต่อการค้าและตลาด”

ที่ผ่านมา ออสเตรเลียมีหลากหลายโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังรวมไปถึงบังคลาเทศด้วย ผ่านการทำงานด้านเกษตรกรรม ออสเตรเลียนำพืชเศรษฐกิจที่ต่างออกไปแนะนำให้กับเกษตรกรรายย่อยในประเทศพันธมิตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาด้านเกษตรยั่งยืน ในบางพื้นที่ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและเด็กเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น เด็ก ๆ ได้ไปโรงเรียน และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศพันธกิจที่ต้องการส่งเสริมความยั่งยืนและสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรในลุ่มแม่น้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปลายปี 2020 ผ่าน Mekong-Australia Partnership (MAP)  ซึ่งครอบคลุมการรับมือความท้าทายจากสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางน้ำ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเจาะจงด้านการเกษตรที่กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การขนส่ง และการจัดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภค โดยมีการสร้างมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการนี้

พันธกิจที่ว่าถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการประชุมสุดยอดพิเศษระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย และการประกาศทุ่มงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมพลังงานสะอาดในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงห้าปีข้างหน้า

error: Content is protected !!